in

เครื่องมือช่าง 40 อย่าง ที่มีเอาไว้ทำได้ทุกงาน

      เครื่องมือช่าง ที่จะกล่าวถึงมีที่เข้ากับงานแตกต่างกันไป แต่ไม่มากนัก ส่วนมากจะเป็น เครื่องมือช่าง ที่ได้ใช้แทบทุกงาน ดังนั้น งานบางอย่างจึงไม่ต้องมีครบทั้งหมด แต่ก็มีเครื่องมือสำคัญหลักๆ ที่ไม่ควรขาดเด็ดขาด ได้แก่ เครื่องมือวัด และ เครื่องมือตัด ซึ่งเป็น เครื่องมือช่าง ที่จำเป็นต้องมี ไม่อย่างนั้นจะเริ่มงานไม่ได้ ไม่รู้ต้องเริ่มจากตรงไหน

      เครื่องมือช่าง ส่วนใหญ่ที่ควรมีจะเป็นพวก Hand Tools ถ้าต้องใช้กับงานสเกลใหญ่ๆ ถึงควรจะมี เครื่องมือช่างไฟฟ้า (Power Tools) เพราะจะช่วยทุ่นแรงและเวลาได้ดีกว่า Hand Tools นั่นเอง


เครื่องมือช่าง Hand Tools

      1. ตลับเมตร (Measuring Tape)

      สำหรับงานขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ สามารถใช้ตลับเมตรเป็นเครื่องมือวัดได้ และยังทำได้ด้วยตัวคนเดียว เพราะตลับเมตรจะมีตะขอที่ส่วนปลาย จึงใช้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ เช่น หมุดหรือตะปูได้ ความยาวประมาณ 25 ฟุต กำลังพอดี เพราะครอบคลุมงานส่วนใหญ่แทบทุกสเกล

      2. ไม้โปรแทคเตอร์ (Protractor)

      หลายๆ คนอาจมองข้ามเครื่องมือนี้ แต่มันมีประโยชน์มากสำหรับการหามุมต่างๆ ทั้ง 180 องศา แถมเป็นเครื่องมือที่ใช้ง่ายและราคาถูกมาก มีลักษณะเป็นครึ่งวงกลม

      3. Speed Square

      เครื่องมือวัดรูปสามเหลี่ยมมุมฉากที่ใช้งานได้หลายอย่างในตัวเดียว ไม่ว่าจะวัด ขีดเส้น หรือหามุมฉากภายนอกและภายในมุมฉาก ด้านหนึ่งถูกทำให้เป็นแผ่นยื่นออกมา เพื่อเกาะกับระนาบของวัตถุได้ การวัดจึงแม่นยำขึ้นมาก

      4. เวอร์เนียร์คาลิปเปอร์ (Vernier Calipers)

      สำหรับงานชิ้นเล็กๆ อย่างงานคราฟต์และ DIY หรือกระทั่งช่างทำสี เครื่องมือวัดละเอียดเป็นสิ่งที่ต้องมีอย่างยิ่ง ใช้วัดความกว้างหรือความหนาได้ ให้ความแม่นยำสูงระดับมิลลิเมตร มีทั้งแบบแมนวลและแบบดิจิตอลให้เลือกใช้

      5. ไม้บรรทัด (Ruler)

      แม้ว่าจะมีเครื่องมือวัดอื่นๆ ที่วัดได้หลากหลายรูปแบบมากกว่า เช่น ตลับเมตรและ Speed Square แต่ก็ยังขนาดคุณสมบัติของไม้บรรทัดนั่นก็คือการตีเส้นตรง ไม้บรรทัดจึงยังจำเป็นสำหรับงานช่างอยู่

      6. ดินสอ (Pencil)

      งานช่างมาคู่กับการออกแบบ ร่างแบบ กำหนดจุด ดังนั้น ดินสอจึงขาดไม่ได้เด็ดขาด ไม่ว่าจะวัดหรือจะตัด ถ้าไม่ได้กำหนดจุดให้ชัดเจนงานก็จะมีความคลาดเคลื่อนสูง ดินสองานช่างไส้ต้องหนา ไม่หักง่าย และถ้าเป็นสีที่มองเห็นง่ายบนวัสดุต่างๆ เช่นขาวหรือแดงก็จะดีมาก

      7. ระดับน้ำ (Spirit Level)

      ความสมมาตรเป็นพื้นฐานของโครงสร้างที่ดีในทางฟิสิกส์ ระดับน้ำเป็นสิ่งที่ช่วยให้ติดตั้งสิ่งต่างๆ ได้อย่างสมมาตรทั้งแนวตั้ง แนวนอน หรือมุมเอียง

      8. ค้อนหงอน (Claw Hammer)

      เป็นรูปแบบค้อนพื้นฐานที่ใช้ได้กับทุกงาน ทำได้ทั้งทุบ ทำลาย งัด หรือแงะ เป็นค้อนที่ใช้งานได้อเนกประสงค์อย่างยิ่ง น้ำหนักและขนาดไม่มากไม่น้อยจนเกินไป

      9. ค้อนทุบ (Sledgehammer)

      เป็นค้อนขนาดใหญ่ บางคนก็อาจเรียกติดปากว่าค้อนปอนด์ มีน้ำหนักมาก หัวค้อนทั้งสองฝั่งจะแบน เหมาะกับงานทุบทำลายดิน หิน อิฐ ปูน คอนกรีต

      10. ค้อนหัวกลม (Ball Peen Hammer)

      หัวค้อนด้านหนึ่งจะมีลักษณะกลมมนคล้ายลูกบอล ใช้ในงานโลหะ สำหรับทุบเหล็กสกัดเย็น

      11. ค้อนอเนกประสงค์ (Utility Bar)

      งานรื้อถอนจำเป็นต้องใช้ค้อนหลายแบบ ค้อนอเนกประสงค์ก็เป็นหนึ่งในนั้น มันมีน้ำหนักมันค่อนข้างเบา แต่จะมีด้านที่แหลมคมเอาไว้งัดตะปูหรือเจาะคว้านฝ้าเพดานที่เป็นผนังเบาต่างๆ

      12. พลั่วขุดดิน (Digging Shovel)

      ช่วยขุดดินตื้นๆ และตักดินออกจากหลุมขนาดใหญ่ งานก่อสร้าง งานสวน และอาคารบ้านเรือนจำเป็นต้องมีเอาไว้

      13. จอบ (Drain Spades)

      ลักษณะเหมือนพลั่วแต่ทรงแคบและขนาดเล็กเรียว เอาไว้สำหรับขุดหลุมลึกๆ ในการลงเสาสิ่งก่อสร้างหรือลงพืชพรรณ

      14. เลื่อยตัดเดือย (Trovel Saw)

      สำหรับงานไม้ที่ต้องอุดรูสกรูด้วยเดือย จะต้องตัดเดือยที่เกินออกมาด้วย หากใช้เลื่อยธรรมดาจะตัดปลายเดือยได้ไม่เรียบไปกับพื้นผิวของงาน เลื่อยตัดเดือยจึงมีความจำเป็น เพราะด้ามจับยาวหรือใบมีดอ่อน มือเลยไม่ติดหรือครูดกับผิวงาน จึงตัดเดือยได้เรียบเนียนดี  

      15. เลื่อยตัดขวาง / เลื่อยลันดา (Crosscut Saw)

      เลื่อยตะวันตกที่ใบค่อนข้างใหญ่และแข็งแรง มีทั้งแบบใช้งานคนเดียวและสองคน ใช้ตัดตามขวางของไม้ขนาดใหญ่ได้ 

      16. เลื่อยญี่ปุ่น (Dozuki / Japanes Saw)

      เหมาะกับงานตัดขนาดเล็กถึงปานกลาง ออกแบบมาสำหรับสรีระศาสตร์ของคนเอเชีย เวลาใช้งานต้องดึงใบมีดเข้าหาตัว ตรงข้ามกับเลื่อยลันดา

      17. เลื่อยฉลุ (Coping Saw)

      ใบเลื่อยจะเล็กและบางมาก ซี่ฟันคม เหมาะสำหรับงานตัดที่ต้องการความโค้งมนหรือต่างจากรูปทรงเรขาคณิตทั่วไป มีทั้งแบบตัดไม้และตัดเหล็กได้

      18. เลื่อยหางหนู (Drywall Saw)

      เลื่อยสำหรับงานทำผนังเบา ปลายเลื่อยจะแหลม เมื่อรวมกับด้ามจับจะดูคล้ายกับหางหนู จึงเรียกเลื่อยหางหนู นอกจากนี้ยังใช้กับวัสดุอื่นๆ ที่ไม่แข็งมากได้ เป็นเลื่อยขนาดเล็ก

      19. ตะไบ (Files)

      เครื่องมือในการขัดให้ขึ้นรูปทรง มีหลายขนาดและหลายรูปแบบ เช่น ตะไบท้องปลิง ตะไบหางหนู ตะไบสามเหลี่ยม ฯลฯ ใช้ได้กับวัสดุแทบทุกประเภท และมีระดับความละเอียดของการขัดให้เลือกเยอะ ใช้ดีกว่ากระดาษทรายเพราะใช้ได้นาน คงรูป และเข้าซอกซอนมุมเล็กๆ ได้ดีเยี่ยม จึงขัดร่องหรือรูรูปต่างๆ ได้ดี

      20. ขวาน (Axe)

      เอาไว้จามไม้ท่อนใหญ่ๆ ผ่าฟืน ตัดต้นไม้ หรือรื้อถอนทำลายโครงสร้างงานไม้ ให้กำลังตัดสูงเพราะอาศัยแรงเหวี่ยงช่วย ควรเลือกค้อนที่หัวกับด้ามเชื่อมกันแน่นดี จะปลอดภัยเวลาใช้งาน

      21. มือจับชิ้นงาน (Clamp)

      การทำงานคนเดียวเป็นเรื่องยาก แต่ถ้ามีเครื่องมือที่ช่วยจับชิ้นงานก็ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะตัด ขัด เจาะ ก็ทำได้สะดวก แคลมป์มีทั้งแบบที่ใช้ในงานไม้ งานเหล็ก งานช่างยนต์ แต่ที่พบมากจะเป็นงานช่างไม้ ช่วยจับชิ้นงานยึดกับโต๊ะ     

      22. ประแจหกเหลี่ยม (Allen Keys)

      สำหรับขันสกรูหกเหลี่ยมหัวจม เป็นหนึ่งในประแจที่ใช้บ่อยที่สุด ใช้ขันได้ทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นแบบหัวตัด อีกด้านเป็นหัวบอล หรืออาจมาในรูปแบบตลับรวมประแจหลายขนาดไว้ด้วยกัน ซึ่งจะใช้ได้เพียงด้านเดียว ตลับจะกลายเป็นด้ามจับ ทำให้จับได้สะดวก เข้ามือมากกว่า

      23. ประแจเลื่อน (Adjustable Wrench)

      สำหรับขันน็อตตัวผู้และตัวเมียที่เป็นหัวเหลี่ยมต่างๆ เช่น สี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม สามารถปรับความกว้างปากประแจให้เหมาะกับหัวน็อตได้ ทำให้ไม่ต้องพกประแจปากตายหลายๆ ตัว

      24. คีมตัด (Cutting Plier)

      สำหรับตัดสิ่งของที่กรรไกรไม่สามารถตัดได้ เช่น สายไฟ สายเคเบิ้ล โซ่ กุญแจ กรงเหล็ก ตะปู สกรู เป็นต้น คีมตัดมีหลายรูปแบบ ต้องเลือกให้เหมาะสมกับงานที่จะใช้เป็นหลัก

      25. คีมปากจิ้งจก / คีมปากยาว (Needle Nose Plier)

      สำหรับใช้กับงานในที่แคบๆ หรือเล็กมากจนมือเข้าไม่ได้ เพื่อจับ คีบ หรือแก้ไขซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย ส่วนใหญ่จะใช้ในงานไฟฟ้าและงานทำเครื่องประดับ หรืองาน DIY

      26. คีมล็อก (Locking Plier)

      สำหรับดึงตะปูและคลายน็อตขนาดเล็กที่ขันแน่นในที่แคบๆ หรือจุดที่เข้าถึงยาก มักใช้กันมากในงานประปาและยานยนต์

      27. คีมคอม้า (Pipe Wrench)

      คล้ายประแจเลื่อน เพราะปรับขนาดปากให้เข้ากับน็อตได้ แต่ในปากจะเป็นร่องหยักๆ ซึ่งให้การยึดเกาะที่ดีและแน่น องศาปากจะเฉียงเล็กน้อย ไม่ตรงเหมือนคีมทั่วไป มักใช้ในงานประปา

      28. พุก (Molly Bolts)

      จะว่าสำคัญก็สำคัญ ไม่สำคัญๆ ก็ไม่สำคัญ แต่ควรมีไว้เพราะจะช่วยให้งานดีขึ้นมาก และเผื่อเหตุฉุกเฉินจะได้นำมาใช้ได้ทันที พุกใช้สำหรับเสริมการยึดเกลียวของสกรูในวัสดุที่แตกง่าย เช่น ผนังปูน อิฐมวลเบา แผ่นยิปซั่ม หรือไม้บางชนิด

      29. เครื่องยิงแม็กหรือสกรู (Staple Gun)

      ใช้ร่วมกับปั๊มลมได้ สำหรับยิงแม็กหรือสกรูลงในพื้นผิวงานที่ต้องการได้ง่ายและเร็วมาก รูเล็ก แต่ไม่เหมาะกับงานที่ต้องประกบของหนาๆ เข้าด้วยกัน

      30. ปืนยิงซิลิโคน (Caulk Gun)

      ใช้ร่วมกับซิลิโคนหรือยาแนวที่เป็นหลอดยาว ปลายแหลม เป็นสิ่งที่ควรมีติดบ้านไว้ เพราะจำเป็นต้องซ่อมแซมยาแนวตามขอบประตูหน้าต่าง อ่างล่างหน้า หรือภายในจุดต่างๆ ของห้องน้ำ

      31. ไขควง (Screwdriver)

      ใช้ขันสกรูต่างๆ ที่มีร่องบนหัว เวลาใช้งานต้องเลือกปลายไขควงให้เหมาะสมกับร่องบนหัวสกรู เช่น ไขควงปากแบน ไขควงปากแฉก

      32. ไฟฉาย (Flashlight)

      งานช่างไม่อาจหลีกเลี่ยงมุมอับมุมมืดต่างๆ ได้ ไฟฉายจึงจำเป็น เพราะจะช่วยให้ทำงานได้ทุกเวลา ทุกสถานที่

      33. มีดอเนกประสงค์ (Utility Knife)

      เพื่อให้ตัดสิ่งต่างๆ ได้สะดวกและทันท่วงที และใช้ได้ทั้งตัดและกรีดสิ่งของ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ทั้งสำหรับบ้านเรือนและช่างมืออาชีพ

เครื่องมือช่าง Power Tools (เครื่องมือช่างไฟฟ้า)

      34. เลเซอร์วัดระยะ (Measuring Laser)

      งานขนาดใหญ่การวัดระยะจะยากมาก เพราะพื้นที่กว้าง และต้องวัดหลายด้าน ตลับเมตรไม่สามารถวัดได้เสมอไป แต่เลเซอร์วัดระยะทำได้ บางรุ่นยังหาพื้นที่ให้เสร็จสรรพด้วย

      35. เครื่องวัดองศา (Inclinometer)

      เป็นเครื่องมือที่พัฒนามาจากระดับน้ำ มีหน้าจอบอกค่าแบบดิจิตอล ไม่ต้องกะด้วยสายตาจากการมองไวอัลเพียงอย่างเดียว แถมวัดได้องศาที่หลากหลาย และกำหนดจุดที่เริ่มวัดเองได้

      36. โต๊ะเลื่อย (Sawhorses)

      สำหรับทำงานใน Workshop ใช้วางชิ้นงานที่จะทำ ทำมาจากวัสดุหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นไม้ โลหะ หรืออลูมิเนียมอื่นๆ สามารถเลือกให้เข้ากับน้ำหนักที่ต้องการรองรับได้

      37. กบไสไม้ตั้งพื้น (Benchtop Planner) 

      สำหรับรีดไม้ ไสไม้ หรือทำให้ไม้บางลง เหมาะกับไม้แผ่น ปรับความหนาที่ต้องการไสได้ แค่ปล่อยให้ไม้ไหลผ่านเครื่องไป ไม้ก็จะบางลง

      38. เครื่องตรวจจับโลหะ (Stud Finder)

      ใช้หาพวกสกรูหรือตะปูในผนังหรือตามสิ่งของต่างๆ ที่ต้องตัดแล้วต้องระวังโลหะเพื่อไม่ให้เครื่องมือเสียหาย มีหลายแบบหลายราคาให้เลือก ตั้งแต่ถูกยันแพง

      39. สว่านไฟฟ้า (Electric Drill)

      ใช้เจาะวัสดุต่างๆ ตามความเหมาะสมของกำลังเครื่องและดอกเจาะ และสามารถขันน็อตหรือสกรูได้

      40. เลื่อยวงเดือน (Circular Saw)

      ตัดได้กับทุกวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นไม้ โลหะ ปูน แกรนิต คอนกรีต ฯลฯ แต่ต้องเลือกใบมีดให้เหมาะสม และตัดวัสดุได้หลายลักษณะ ทั้งแบบแผ่นและแบบแท่ง 

เช็คราคา เครื่องมือช่าง ทั้งหมดได้ที่นี่

What do you think?

Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Loading…

0
เครื่องมือช่าง

20 เครื่องมือช่างไม้ ที่คุณต้องมีไว้ใช้งานในงานไม้

ไฟฉาย

5 วิธีเลือก ไฟฉาย ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคุณ